Skip to main content

จดหมายเปิดผนึกเรียนนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวข้อ: ขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เรียน นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

11 พฤศจิกายน 2564

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ  10300
ประเทศไทย

หัวข้อ: ขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

เรียน นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรา, 10 องค์กรที่ลงรายชื่อด้านล่างนี้, ประสงค์ให้รัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมถึงรับรองว่าเอกสารที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่...) พ.ศ.... (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แต่ยังคงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลการให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมาย รวมถึง “(สำเนา) ยืนยันมติ” ตลอดจนข้อสรุปโดยละเอียดของกฎหมายและผลกระทบของกฎหมายบนเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญ เรายังมีความวิตกกังวลว่าในเมื่อคณะรัฐมนตรีได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับอื่นที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายนแล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ

เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าด้วยมาตรการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวเสนอว่ารัฐบาลควร “ให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ประชาชนในเรื่องของข้อกฎหมายและมาตรการฉุกเฉิน โดยต้องสื่อสารอย่างรวดเร็วและออกประกาศในทุกภาษาราชการของรัฐ ... ต้องเผยแพร่ข้อมูลแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงระเบียบและข้อกฎหมายใหม่ รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นได้”

เมื่อต้นปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างแก้ไขฉบับก่อนหน้า ในระหว่างการรับฟังความเห็น ประชาชนได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมอบอำนาจกว้างขวางให้รัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น ในร่างแก้ไขฉบับก่อนหน้านี้มีการกำหนดว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอาจดำเนินการ “กำหนดมาตรการการจัดการเกี่ยวกับ … การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้บุคคลต้องปฏิบัติ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ประชาชนในทุกพื้นที่หรือบางพื้นที่งดประกอบกิจการบางชนิดที่อาจเป็นแหล่งหรือก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง หรือห้ามให้อยู่ร่วมกันในที่ประชุมหรือชุมนุมเกินจำนวนที่กำหนดโดยจะกำหนดเงื่อนไขในการประชุมหรือชุมนุมไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้”

ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 รองโฆษกรัฐบาลยังระบุว่า ในอนาคต อาจมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อเป็นกฎหมายหลัก ซึ่งให้อำนาจในการควบคุมและจัดการกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะประกาศใช้แทนที่พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่งต่ออายุไปเป็นครั้งที่ 14 และมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะมีการยุติการใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่เรายังคงกังวลว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อที่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นมาตรการข้อกฎหมายที่ผิดพลาดซ้ำรอยกับพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในแง่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีรายงานข่าวว่าทางการได้จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ประท้วงไปแล้วกว่า 1,330 คน ในหลายกรณี ทางการได้มุ่งเป้าเพ่งเล็งผู้วิจารณ์และนักเคลื่อนไหวโดยใช้คำสั่งฉุกเฉินบังหน้า นอกจากนี้ การกักตัวบุคคลเนื่องจากละเมิดข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังมีความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากการควบคุมตัวบุคคลไว้รวมกันในพื้นที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัยนั้นถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ภายใต้บริบทของภัยคุกคามสาธารณสุขที่ร้ายแรงและเหตุฉุกเฉินสาธารณะ เช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การตอบสนองที่มีประสิทธิภาพอาจหมายรวมถึงการจำกัดสิทธิบางอย่างชั่วคราว ซึ่งรวมถึงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนหลักกฎหมายที่ชัดเจน บังคับใช้ในกรณีจำเป็นและได้สัดส่วน จึงจะถึงว่ามีความชอบธรรมตามเป้าประสงค์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อบังคับดังกล่าวไม่ควรเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างกว้างขวางโดยพลการ และไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องกำหนดขอบเขตระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน และต้องผ่านการตรวจสอบทบทวนก่อนประกาศใช้

การจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบตามข้อกำหนดของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงตัวบทที่คลุมเครือและตีความได้อย่างกว้างขวางของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เราเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ยังคงมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับข้อบทในพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนดต่าง ๆ จึงยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเช่นกัน

ขอขอบคุณที่ท่านให้ความใส่ใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายนี้ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะรับฟังเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการรับมือกับประเด็นสำคัญนี้อย่างไรบ้าง

 

ขอแสดงความนับถือ

ARTICLE 19
Asia Democracy Network
Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
CIVICUS: World Alliance for Citizenship Participation
FIDH – International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
iLaw
International Commission of Jurists
Manushya Foundation

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Topic