Skip to main content

เมียนมา: รัฐวิสาหกิจไทยให้เงินสนับสนุนรัฐบาลทหาร

บริษัทปตท. ที่ผลิตน้ำมันและก๊าซควรตัดความสัมพันธ์กับบริษัทของกองทัพ และพันธมิตรที่ปฏิบัติมิชอบ

(กรุงเทพฯ, 25 พฤษภาคม 2564) – ปตท. รัฐวิสาหกิจที่ผลิตน้ำมันและก๊าซของ ประเทศไทย  ปตท. ร่วมทุนกับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ เพื่อขยายธุรกิจใน เมียนมา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การขยายธุรกิจครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากปตท.ได้จ่ายเงินครึ่งพันล้านเหรียญให้กับวิสาหกิจภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร ผ่านการดำเนินงานในปัจจุบันในบ่อก๊าซธรรมชาติของเมียนมา

ในปี 2562 บริษัทร่วมทุนของปตท. จ่ายเงินให้กับ Myanmar Economic Corporation (MEC) กลุ่มบริษัทภายใต้กองทัพเป็นจำนวนเงินเกือบ 1 ล้านเหรียญต่อปี สำหรับการก่อสร้างคลังเก็บเชื้อเพลิงบนที่ดินซึ่งเวนคืนมาจากเกษตรกร สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา ประกาศคว่ำบาตรบริษัท MEC และ Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) กลุ่มบริษัทของกองทัพ ซึ่งมีส่วนสร้างรายได้จำนวนมากเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติมิชอบของกองทัพ และทำให้หน่วยงานนี้ลอยนวลพ้นผิด

ปตท.ควรตัดความสัมพันธ์กับวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา และยุติการลงทุนใหม่ในประเทศ จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลแบบประชาธิปไตย รัฐบาลต่างประเทศควรนำมาตรการมาใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการจ่ายเงินโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร ผ่านโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายใต้การดำเนินงานของปตท.และบริษัทอื่น ๆ

“การเพิ่มความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกองทัพเมียนมา ในขณะที่กองทัพปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือด ย่อมแสดงว่าปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย แทบไม่ใส่ใจใยดีต่อชีวิตและเสรีภาพของประชาชนในเมียนมา” เชนา เบาช์เนอร์ นักวิจัยภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ผู้บริหารของปตท.ควรเคารพการคว่ำบาตรของนานาชาติ และตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้” 

นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้เกิดการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กองทัพเมียนมาได้ตอบโต้อย่างทารุณโหดร้ายมากขึ้น เพื่อปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ กองกำลังของรัฐได้สังหารประชาชนกว่า 820 คน และ ควบคุมตัว บุคคลกว่า 4,300 คน รวมทั้งนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว ข้าราชการและนักการเมือง

ปตท.ได้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในเมียนมา นับแต่ปี 2532 โดยได้จ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญ ให้กับหน่วยงานภายใต้การควบคุมของรัฐเมียนมา ทั้งในรูปค่าธรรมเนียม ภาษี ค่าสัมปทาน และรายได้จากการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน แต่ในขณะที่ การผลิตลดลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทกลับเพิ่มการลงทุนทั้งในกิจการกลางน้ำและปลายน้ำในประเทศ โดยประกาศเป้าหมายที่จะเป็น “ผู้ให้บริการชั้นนำของเมียนมา” สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฮิวแมนไรท์วอทช์เขียนจดหมายถึงปตท.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เพื่อสอบถามถึงการดำเนินงานของบริษัทในเมียนมา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

บริษัท Adani Ports and Special Economic Zone ของอินเดีย เมื่อเร็ว ๆ ได้ถูกตัดออกจาก รายการดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ อันเป็นผลมาจาก “ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อบริษัท จากการมีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับกองทัพเมียนมา” เช่นเดียวปตท. ทางบริษัทได้จัดซื้อที่ดินผ่านกลุ่มบริษัท MEC ปตท.และบริษัทลูกทั้งสี่แห่งก็มีชื่ออยู่ใน ดัชนีความยั่งยืนของหน่วยงานเดียวกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์จึงได้ติดต่อกับทาง S&P Dow Jones Indices เพื่อขอให้พวกเขา ทบทวนสถานะ ของปตท.อย่างสอดคล้องตามมาตรฐานที่ทำกับบริษัท Adani

มีการเปิดเผยรายละเอียดส่วนหนึ่งของแผนขยายกิจการของปตท.ใน บันทึกความเข้าใจ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เป็นเอกสารที่ถูกเปิดโปงโดย DDoSecrets หน่วยงานเพื่อสนับสนุนความโปร่งใส ซึ่งตรวจสอบบบริษัท Kanbawza Group (KBZ) ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ ทางบริษัทยังประกาศแผนการลงทุน กว่า 200 ล้านเหรียญ โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท KBZ

ในปี 2562 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTT OR ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท.) และ KBZ เริ่มการร่วมทุนในการสร้างท่าเรือ คลังเก็บน้ำมัน และโรงงานเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่เมืองติละวาและเจ้าต้าน เขตย่างกุ้ง คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 150 ล้านเหรียญ คลังเก็บน้ำมันแห่งนี้ถือว่าใหญ่สุดสำหรับบริษัท ทั้งนี้ตามข้อมูลของปตท. โดยมีรายงานว่าสามารถจัดเก็บน้ำมันได้มากถึงหนึ่งล้านแบร์เรล และ 4,500 เมตริกตันสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว เดิมมีการระบุว่า จะสร้างจนแล้วเสร็จในปี 2564

KBZ เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมียนมาที่เป็นของอ่องโกวิน ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างยาวนานกับกองทัพ KBZ ดำเนินธุรกิจธนาคารใหญ่สุดของประเทศและบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งเหมืองแร่ การผลิต เทคโนโลยี การค้า และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

KBZ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งทาง ส่วนตัว ทางการเงิน และ พาณิชย์ กับกองทัพ ให้ประโยชน์และสนับสนุนการทำงานด้านต่าง ๆ ของกองทัพ ในปี 2562 คณะทำงานระหว่างประเทศอิสระเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในเมียนมา ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ พบว่า KBZ บริจาคเงิน 4.7 ล้านเหรียญสนับสนุนปฏิบัติการของกองทัพเมื่อปี 2560 เพื่อปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และมีข้อสรุปว่า ควรมีการสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท KBZ อย่างเหมาะสม ฐานที่ “สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือกระทำการอื่นใด ที่ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่มีลักษณะเป็นการประหัตประหารและเป็นการกระทำที่ขาดมนุษยธรรม” 

KBZ ยังเป็นภาคีกับ กลุ่มบริษัท MEHL ของกองทัพเป็นเวลากว่าสองทศวรรษในการทำธุรกิจหยกและอัญมณี Kanbawza Bank อ่องโกวินและสมาชิกครอบครัวของเขา ได้ถูกสหภาพยุโรปคว่ำบาตร จนถึงปี 2555 จากการมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์เขียนจดหมายถึง KBZ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ในการก่อสร้างคลังเชื้อเพลิง PTT OR และ KBZ ได้ร่วมทุนในนามบริษัท Brighter Energy และได้เช่าซื้อที่ดินจาก MEC และกระทรวงกลาโหมภายใต้สัญญาแบบ build-operate-transfer (BOT) ทั้งนี้ตาม เอกสารที่รั่วไหลออกมาจากคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา ปตท.ได้ซื้อ หุ้น 35% ของบริษัท Brighter Energy จาก KBZ เมื่อปี 2562

สัญญาก่อสร้างโครงการแบบ ครอบคลุมพื้นที่ 421 ไร่ ซึ่งเป็นของ MEC ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูปเรือที่ติวาลา มีระยะเวลา 50 ปีภายหลังการก่อสร้างที่ใช้เวลาสองปี โดยมีออปชันให้สามารถต่ออายุได้อีกสองครั้ง ๆ ละ 10 ปี มีการจ่ายเงินค่าเช่าซื้อให้กับ MEC ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน 1,685,000 เหรียญ และค่าเช่า 808,800 เหรียญต่อปี คิดเป็นเงินจำนวน 42 ล้านเหรียญตลอดอายุสัญญา อาคารและสิ่งปลูกสร้างของคลังเชื้อเพลิงจะถูกส่งมอบให้กับ MEC โดยไม่คิดมูลค่าเมื่อหมดสัญญาเช่าซื้อแล้ว ข้อตกลงนี้มีการลงนามโดยถั่นฉ่วย ผู้อำนวยการบริหารของ MEC ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ถูกคว่ำบาตรโดยสหราชอาณาจักร และผู้อำนวยการบริษัท Brighter Energy  

ทางการได้ที่ดินในเขตเจ้าต้านของจังหวัดทิดามะเยง โดยการเวนคืนจากเกษตรกรซึ่งทำเกษตรในพื้นที่นี้มาหลายทศวรรษ ทั้งนี้ตามรายงานขององค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้ง EarthRights International และ Namati ในปี 2557 MEC ดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุก กับเกษตรกร 33 ราย โดยเป็นผลมาจากการเวนคืนที่ดินอย่างผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมื่อปี 2539 ต่อมาศาลตัดสินว่าเกษตรกรเหล่านี้ มีความผิดตามข้อกล่าวหา ในปี 2561 ในปีดังกล่าว MEC ได้จดแจ้งการดำเนินงานในที่ดิน เพื่อขอใช้ที่ดิน 421 ไร่นี้ เพื่อพัฒนาเป็น “อาคารและถังเก็บเชื้อเพลิง”

ปตท. และ KBZ ยังจ่ายภาษีจำนวนมากให้กับกรมสรรพากร ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร จากรายละเอียดตอนท้ายของสัญญา คาดว่าภาษีทั้งในเชิงพาณิชย์และภาษีรายได้ในช่วง 20 ปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1.36 พันล้านเหรียญ บริษัท Brighter Energy ระบุว่ากำไรสุทธิของคลังน้ำมันแห่งนี้จะอยู่ที่ 65.7 ล้านเหรียญในปีแรกของการดำเนินงาน และจะเพิ่มเป็น 104 ล้านเหรียญทุกปีในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น รวมทั้งยังมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีก 63 ล้านเหรียญต่อปี

โครงการคลังเชื้อเพลิงแห่งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแผนการขยายงานของปตท.ในเมียนมา ในเดือนธันวาคม 2563 ปตท. ลงนามในข้อตกลง ที่จะลงทุนเป็นเงินจำนวน 2 พันล้านเหรียญในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ เป็นการผลิตเพื่อการใช้งานในประเทศร่วมกับกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีรัฐมนตรีคือ อ่องถั่นอู ซึ่งเป็นสมาชิกของ SAC เขาได้ถูก คว่ำบาตร โดยสหภาพยุโรปจากบทบาทของเขาในรัฐบาลทหารชุดก่อน นายพงศธร ทวีสิน ผู้บริหาร ปตท. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อเดือนมีนาคมว่า โครงการนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร และจะเดินหน้าต่อไป โดยบอกว่าทางบริษัทมีความเป็นกลางทางการเมือง ปตท. ประกาศการประกวดราคา ในเดือนพฤษภาคม สำหรับการขุดเจาะบ่อน้ำมันในพื้นที่โครงการ

ปตท.ได้จ่ายเงินให้กับเมียนมาแล้วกว่า 500 ล้านเหรียญต่อปี ผ่านโครงการร่วมทุนกับ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ในโครงการบ่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่สี่แห่งของประเทศ ทางบริษัทรายงานว่าได้จ่ายเงิน 125 ล้านเหรียญเป็นภาษีสำหรับปี 2562 ให้กับกระทรวงวางแผน การเงิน และอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีรัฐมนตรีคือ วินเชน ซึ่งเป็นสมาชิกของ SAC และเคยถูกคว่ำบาตรโดยสหภาพยุโรป ฐานที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการในรัฐบาลทหารชุดก่อนหน้านี้

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของ ปตท. ระบุว่าทางบริษัทปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้กับบริษัท รวมทั้งหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

นับแต่การทำรัฐประหาร สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ได้ยึดอำนาจควบคุมกระทรวงต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบัญชีธนาคารของหน่วยงานเหล่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการของปตท. รัฐบาลทหารยังได้ ปรับรื้อโครงสร้างคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา ที่รับผิดชอบต่อการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และได้แต่งตั้งพลโทโมมยินต์ตุนเป็นประธาน เขาเป็นสมาชิกของรัฐบาลทหารเช่นกัน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปและแคนาดาได้ คว่ำบาตรโมมยินต์ตุน ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกของ SAC และในบทบาทก่อนหน้านี้ที่เป็นเสนาธิการทหารและกำกับดูแลปฏิบัติการเพื่อปราบปรามชาวโรฮิงญาในปี 2560 เช่นเดียวกับผู้บัญชาการทหารอื่น ๆ โมมยินต์ตุนเป็น กรรมการทั้งบริษัท MEC และ MEHL

รัฐบาลต่างประเทศควรขัดขวางการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหารและรัฐวิสาหกิจ โดยผ่านการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งโครงการภายใต้การดำเนินงานของปตท., Total และ Chevron ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ควรมีการนำมาตรการเช่นนี้มาใช้เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีต่างชาติของรัฐบาลทหาร ในขณะที่ยังคงเปิดให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าต่อไป 

หน่วยงานด้านการเงินของไทยควรร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการคว่ำบาตร และสั่งการให้ธนาคารที่มีธุรกรรมการเงินต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามมาตรการและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ เหล่านี้ 

รัฐบาลที่คว่ำบาตรบริษัท MEC และ MEHL ควรกระตุ้นให้ประเทศไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ที่มีการลงทุนมหาศาลในเมียนมา ใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกัน

“การลงทุนของปตท.ในเมียนมาทำให้กองทัพได้รับเงินหลายร้อยล้านเหรียญ” เบาช์เนอร์กล่าว “รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเป้าหมายไปที่แหล่งเงินทุนเหล่านี้ โดยถือเป็นเป้าหมายหลักของการคว่ำบาตร เพื่อทำให้มินอ่องลาย ผู้ทำการรัฐประหาร รัฐบาลทหาร และบรรดานายพลทหาร จะไม่ได้รับประโยชน์จากความทารุณโหดร้ายของพวกเขา”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.