Skip to main content

จดหมายรวมถึงประธานาธิบดีไบเดนเกี่ยวกับร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ละเมิดสิทธิในประเทศไทย

12 พฤษภาคม 2565

ประธานาธิบดี โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์
ทำเนียบขาว
วอชิงตัน ดีซี

เรื่อง: ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ละเมิดสิทธิในประเทศไทย

เรียน ประธานาธิบดีไบเดน

พวกเราที่มีรายชื่อด้านท้ายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และต้องการเขียนจดหมาย เพื่อแสดงข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....ของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 4 มกราคม  2565 การประกาศใช้ร่างกฎหมายนี้ จะทำให้เกิดการละเมิดอย่างเป็นระบบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพด้านการแสดงออกของกลุ่มไม่แสวงหากำไร เราจึงกระตุ้นให้ท่านเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ถอนร่างกฎหมายนี้ ในระหว่างที่ท่านจะได้ประชุมกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และตัวแทน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจะมีขึ้นที่ทำเนียบขาวในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565

ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถสั่งการเพียงฝ่ายเดียว ให้มีการยุติการดำเนินกิจกรรมทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งดำเนินงานในประเทศไทย กรณีที่เป็นการดำเนินกิจกรรมหรือการแสดงออกต่อสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่า จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”; “กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น”; กระทบต่อ “ประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ”; กระทบต่อ “ความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือ “ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” ในประเทศไทย องค์กรไม่แสวงหากำไรยังถูกห้ามไม่ให้กระทำการ “ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” หรือกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ” โดยไม่มีการกำหนดนิยามของถ้อยคำเหล่านี้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลพินิจเต็มที่ในการตีความ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในเบื้องต้นต่อร่างกฎหมายที่ลงโทษอย่างรุนแรงและละเมิดสิทธิ ทำให้สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจกับหน่วยงานเหล่านี้ได้

หากมีการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นกฎหมาย เราคาดว่าหลายหน่วยงานที่ลงนามและสนับสนุนจดหมายที่ส่งถึงท่านจะถูกมาตรการลงโทษ ทั้งโดยการสอบสวนที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ถูกจัดว่าเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะ และหน่วยงานของรัฐบาลอาจสั่งการให้พวกเขายุติการดำเนินกิจกรรม

ดังที่ท่านอาจทราบว่า นอกจากการทำงานที่น่าชื่นชมขององค์กรภาคประชาสังคมของไทยในแง่การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน สวัสดิการด้านสังคม การดำเนินกิจกรรมภาคพลเมือง และงานด้านมนุษยธรรมในประเทศไทยแล้ว ภาคประชาสังคมของไทยยังมีบทบาทระดับภูมิภาคอีกด้วย โดยมีองค์กรมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญที่ดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่หลบหนีจากวิกฤตในเมียนมา (พม่า) และให้ความช่วยเหลือในฝั่งเมียนมาด้วย การดำเนินงานเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยง หากมีการประกาศรับรองร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากมีข้อบทที่ขัดขวางไม่ให้ภาคประชาสังคมสามารถดำเนินงาน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้

ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยได้ให้ที่พักพิงเป็นเวลานานกับนักกิจกรรมทางการเมือง และนักกิจกรรมด้านสิทธิ ที่หลบหนีจากรัฐบาลเผด็จการในเวียดนาม กัมพูชา และลาว และองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งทำงานสนับสนุนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ยังอาจเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกสั่งปิด หากมีการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้เป็นกฎหมาย
 

คุ้มครองภาคประชาสังคมไทย

เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญไทย รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้จัดกระบวนการรับฟังความเห็นระหว่างปลายเดือนมกราคม 2565 ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการปรึกษาหารือในเบื้องต้นนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไร 1,867 แห่งทั่วประเทศไทย จึงได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม และต่อมาได้จัด การชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนร่างพระราชบัญญัติฯ นี้

กลุ่มของเราประสงค์ที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า พวกเราเป็นกลุ่มประชาสังคมซึ่งทำงานในหลากหลายประเด็น ในการทำงานเป็นองค์กร เราได้ทำงานในหลายภาคส่วน และมุ่งส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลดความยากจน ช่วยเหลือครอบครัว สนับสนุนเด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย การยุติการค้ามนุษย์ การสอบสวนห่วงโซ่อุปทานภาคธุรกิจ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนกิจกรรมภาคพลเมือง การเปิดโปงการทุจริตและการใช้อำนาจอย่างมิชอบของรัฐบาล การคุ้มครองผู้เปิดโปงเบาะแสการทุจริต และการช่วยเหลือบุคคลให้เข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างเหมาะสม 

ภาคประชาสังคมของไทยและผู้สนับสนุนจากนานาชาติ ประสงค์ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยดีขึ้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น และหน่วยงานเหล่านี้ไม่ควรจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่มีบทลงโทษรุนแรง ตามร่างกฎหมายที่รัฐบาลไทยเสนอ
 

ความเสี่ยงเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฯ นี้

ร่างกฎหมายนี้คุกคามการทำงานที่สำคัญของภาคประชาสังคม และรัฐบาลไทยไม่ได้แสดงหลักการและเหตุผลสนับสนุนกฎหมายนี้ เว้นแต่บอกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกัน ผู้จัดทำร่างระบุอย่างชัดเจนว่า ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐบาลที่นั่นใช้กฎหมายสั่งปิดหน่วยงานภาคเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ามีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิด “ความโปร่งใส” ในภาคองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่มีหลักฐานรองรับแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบที่เหมาะสมอยู่แล้วในการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไร กล่าวโดยสรุป ร่างกฎหมายนี้เป็นเพียงการขยายอำนาจอย่างกว้างขวางของรัฐบาล เพื่อที่จะควบคุมเหนือการทำงานทุกด้านและการรวมตัวทุกประเภทของภาคประชาสังคมในประเทศไทย

กฎหมายนี้มีการใช้ถ้อยคำที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง” นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังระบุว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดมีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยเฉพาะ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะนั้นแล้ว ให้อยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย”  

จากการนิยามที่กว้างขวางขององค์กร “ไม่แสวงหากำไร” ทำให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาครอบคลุมองค์กรแทบทุกอย่าง ตั้งแต่หอการค้าของต่างประเทศ ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกร องค์กรซึ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์ องค์กรแรงงานข้ามชาติ องค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวบ้านที่ทุกข์ทนเพราะการประท้วงการเวนคืนที่ดิน กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม สมาคมกีฬาชุมชนและมูลนิธิในท้องถิ่น องค์กรสิทธิมนุษยชน และกลุ่มพัฒนาชุมชน ทั้งนี้โดยไม่มีข้อจำกัดอย่างชัดเจนในแง่ขององค์กรที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกฎหมายนี้

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลไทยดูเหมือนจะคาดหวังให้ประชาคมระหว่างประเทศเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ขณะที่รัฐบาลไทยมุ่งจำกัดอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั่วประเทศไทย ในประเทศที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน และมีรัฐบาลที่อยู่ใต้อิทธิพลของผู้นำกองทัพ เป็นที่ชัดเจนว่าข้อบทตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ จะถูกนำมาใช้โดยพลการ เพื่อมุ่งจำกัดอย่างรุนแรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม รวมทั้งสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ
 

รายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติฯ

ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาที่คลุมเครืออย่างยิ่ง การใช้ถ้อยคำที่ต้องตีความย่อมเป็นเหตุให้การดำเนินงานแทบทุกประการ อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดข้อบทในกฎหมายนี้ โดยมีข้อบทกำกับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านล่าง จะต้องไม่ดำเนินการที่กระทบต่อ “ศีลธรรมอันดี” ของประชาชน หรือ “กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุข” ไม่เช่นนั้นก็จะถูกปรับวันละ 10,000 บาท

มาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

(3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ

(4) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

(5) เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น

มาตรา 26 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่ยุติการดำเนินงานตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 20 วรรคสอง หรือมาตรา 21 กรณีที่มีการบังคับใช้ตามมาตรา 20 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ร่างกฎหมายนี้ยังขัดขวางไม่ให้หน่วยงานซึ่งช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศไทย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่สำคัญนี้ได้ ข้อจำกัดและข้อกำหนดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสนับสนุนด้านแหล่งทุนจากนอกประเทศไทย มีเนื้อหาขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อแหล่งทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่ช่วยเหลือประชาชนในประเทศไทยทุกวัน 

มาตรา 21 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน

(2) ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน

(4) ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1)

(5) ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง

ร่างกฎหมายนี้ยังสร้างความถดถอยมากขึ้นต่อประเทศไทย ในแง่การสูญเสียความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม

มาตรา 19 เพื่อประโยชน์แห่งความโปร่งใสและให้ประชาชนได้รับรู้กิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ให้องค์กรไม่แสวงหากำไรมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุนรายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน โดยให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย

องค์กรภาคประชาสังคม บุคคลที่ทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้ และชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มเหล่านี้ มีสิทธิในการรวมตัว แสดงความเห็น และดำเนินการเพื่อชุมชนของตน สิทธิทางพลเมืองและการเมืองที่สำคัญเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
 

ข้อเสนอแนะ

ด้วยความเคารพ เราจึงเรียกร้องให้ท่านและรัฐบาลของท่าน กดดันรัฐบาลไทยให้ถอนร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....ทันที และประกันว่ากฎหมายและระเบียบอย่างอื่นที่ประเทศไทยเสนอและมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรไม่แสวงหากำไร จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องอย่างจริงจังกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ขอแสดงความนับถือ

  1. Amnesty International
  2. APCOM
  3. Asian Cultural Forum on Development (ACFOD)
  4. Asia Network for Free Elections (ANFREL)
  5. Asia Pacific Refugee Rights Network (APRRN)
  6. Asia Pacific Transgender Network (APTN)
  7. Article 19
  8. Asia Democracy Network (AND)
  9. Be Slavery Free
  10. Campaign Committee for Human Rights (CCHR)
  11. Campaign for Popular Democracy (CPD)
  12. CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation
  13. Community Resource Center (CRC)
  14. Cross Cultural Rights Foundation (CrCF)
  15. CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood (CSO Coalition)
  16. Democracy Restoration Group (DRG)
  17. EnLAW
  18. Environmental Justice Foundation (EJF)
  19. Equal Asia Foundation
  20. Finnwatch
  21. Fishwise
  22. Fortify Rights
  23. Forum Asia (Asian Forum for Rights and Development)
  24. Freedom Fund
  25. Freedom United
  26. Global Labor Justice-International Labor Rights Foundation
  27. Glom Duayjai
  28. Green America
  29. Greenpeace Thailand
  30. Greenpeace USA
  31. Human Rights Watch
  32. Human Rights and Development Foundation (HRDF)
  33. Human Rights Lawyers Association (HRLA)
  34. Humanity United Action
  35. ILGA Asia (Asian Region of the International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association)
  36. Inter Mountain People's Education and Culture in Thailand Association
  37. International Commission of Jurists (ICJ)
  38. International Federation for Human Rights (FIDH)
  39. International Justice Mission (Thailand)
  40. Jaringan Mangsa Dari Undang–Undang Darurat (JASAD)
  41. Justice for Peace Foundation
  42. Kru Kor Sorn
  43. Labour Protection Network (LPN)
  44. Lawyers Rights Watch Canada (LRWC)
  45. Manushya Foundation
  46. MAP Foundation (Migrant Assistance Program)
  47. MobNews
  48. NGOs for the People
  49. Patani Human Rights Organization (HAP)
  50. Peace and Human Rights Resource Center (PHRC)
  51. Protection International
  52. SEA Junction
  53. SHero Thailand
  54. Solidarity Center
  55. Stop Drink Network Thailand (SDN)
  56. Thai Action Coalition for Democracy in Burma (TACDB)
  57. Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)
  58. Thai Teachers for Child Rights Association (TTCR)
  59. Togetherness for Equality and Action (TEA)
  60. Union for Civil Liberty (UCL)
  61. United Front of Thammasat and Demonstration
  62. Verite
  63. Women4Oceans
  64. Workers’ Union (Thailand)
  65. Young Pride Club (YPC)

 

สำเนา:

แอนโทนี เจ บลิงเคน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ

เวนดี อาร์ เชอร์แมน, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.